แบตเตอรี่ เป็นคลังสำหรับกักเก็บไฟฟ้า ที่ได้มากจากการชารจ์ของไดชาร์จหรืออัลเตอร์เนเตอร์ และจ่ายออกไปให้อุปกรณ์ต่างๆที่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน เช่นไฟส่องสว่างทั้งหลาย, นาฬิกาประจำรถ, วิทยุ, ที่ปัดน้ำฝน, มอเตอร์บังคับการขึ้นและลงของกระจกหน้าต่าง ที่สำคัญที่สุดคือเป็นพลังงานสำคัญในการหมุนมอเตอร์สตาร์ทเพื่อทำให้เครื่องยนต์ติดขึ้นมา แบตเตอรี่จึงเป็นอุปกรณ์ประจำรถยนต์ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง แต่คนใช้รถยนต์ในปัจจุบันนี้กลับให้ความสำคัญกับแบตเตอรี่น้อยมาก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ในปัจจุบันนี้จึงทำการผลิต “ตัวช่วย” ขึ้นมาหลายอย่าง ( โดยบวกราคาเข้าไปในตัวแบตเตอรี่ด้วย ) เช่นมีการใช้แบตเตอรี่แบบที่ต้องการการดูแลรักษาต่ำ หรือเมนเทนแนนซ์ ฟรี หรือที่เรียกกันว่าแบตเตอรี่แห้ง ( ทั้งที่ไม่ใช่แบตเตอรี่แห้ง ) กันมากขึ้น จนรถยนต์เก๋งนั่งในปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมด ติดตั้งแบตเตอรี่ประเภทนี้มาให้จากโรงงานตั้งแต่เริ่มต้น และทำการติดตั้งช่องแสดงสัญญลักษณ์ระดับไฟในแบตเตอรี่ หรือที่เรียกกันว่า “ตาแมว” มาให้ เพื่อที่ผู้ใช้แบตเตอรี่จะได้รู้ถึงกำลังไฟฟ้าในแบตเตอรี่ของตนเอง
ผู้ใช้รถยนต์ในอดีตย้อนหลังไปประมาณสักยี่สิบหรือสามสิบปี จะให้ความสำคัญกับแบตเตอรี่ค่อนข้างมาก มีการตรวจตราดูระดับน้ำกรดในแบตเตอรี่กันเป็นประจำ เมื่อเห็นว่าระดับน้ำกรดในแบตเตอรี่ ลดระดับลงจากขีดที่มีการแจ้งเอาไว้ ก็จะไปหาซื้อน้ำกลั่นมาเติมลงไปแทนที่ รถยนต์ยุคนั้นจึงมีขวดน้ำกลั่นสำหรับเติมแบตเตอรี่ติดอยู่ในฝากระโปรงท้ายรถกันเป็นจำนวนมาก หรือไม่อย่างนั้นก็จะมีการซื้อน้ำกลั่นติดประจำโรงรถเอาไว้ เพื่อที่จะได้มีเติมทันทีที่พบว่าระดับน้ำกรดลดลง อีกทั้งเมื่อพบว่ามีคราบขุยคล้ายเชื้อราเกิดขึ้นที่ขั้วแบตเตอรี่ ผู้ใช้รถยนต์ยุคนั้นก็รู้ได้ทันทีว่าน่าจะเกิดจากการชาร์จไฟจากไดชาร์จ หรืออัลเตอร์เนเตอร์กลับเข้ามาที่แบตเตอรี่มากเกินไป และสามารถทำการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเองเกือบทุกคน ด้วยการเอาน้ำร้อนจัดๆหรือน้ำเดือดมาราดลงไปตรงบริเวณขั้วแบตเตอรี่ที่มีขุยดังกล่าวเกิดขึ้น ราดลงไปจนขุยที่ว่านั้นละลายหายไป และไหลออกไปจากห้องเครื่องยนต์หรือตัวรถจนหมดเกลี้ยง แล้วจึงเอาจาระบีมาทาเคลือบไว้ที่ขั้วแบตเตอรี่นั้น เป็นการป้องกันการเกิดซ้ำขึ้นใหม่อีกครั้งนั่นเอง
รถยนต์ยุคนั้นมีจุดอ่อนอยู่ที่บริเวณติดตั้งแบตเตอรี่หรือที่ฐานรองแบตเตอรี่ เพราะการเดือดของน้ำกรดในแบตเตอรี่ขณะชาร์จ จะทำให้เกิดไอน้ำกรดระเหยออกมาในบริเวณดังกล่าว ฐานรองแบตเตอรี่และบริเวณดังกล่าวที่เป็นโลหะจึงเกิดสนิมขึ้นได้ง่าย เจ้าของรถยนต์ยุคนั้นจึงหมั่นทำการล้าง และตรวจสอบบริเวณดังกล่าวกันเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันการเสียหายที่กล่าวมา ผู้ใช้รถยนต์ในต่างจังหวัดที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการซื้อแบตเตอรี่ใหม่ เมื่อพบว่าแบตเตอรี่ในรถยนต์ของตนเอง มีขีดความสามารถในการกักเก็บไฟฟ้า และมีความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าลดลง ก็จะทำการยืดอายุแบตเตอรี่ของตนเองด้วยการ “ล้างแบต” นั่นคือการคว่ำเทน้ำกรดในแบตเตอรี่ออกจนหมด แล้วเติมน้ำกรดใหม่เข้าไปให้เต็มตามกำหนด จากนั้นจึงเอาแบตเตอรี่ไปชาร์จไฟแล้วจึงนำกลับมาใช้งานได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง รถยนต์สมัยก่อนที่เจ้าของดูแลแบตเตอรี่ถูกต้อง แบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานยาวนานเกินกว่าสามปีขึ้นไป
ในขณะที่แบตเตอรี่ในรถยนต์สมัยนี้ หลายคันเพียงแค่ผ่านการใช้งานมาได้หนึ่งปีก็หมดสภาพการใช้งานไปแล้ว เพราะรถยนต์สมัยนี้มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และผู้ใช้รถยนต์ไม่ได้ทำการดูแลรักษาแบตเตอรี่เท่าที่ควร ด้วยหลงเชื่อว่าแบตเตอรี่ในรถยนต์ของตนเองนั้นเป็นแบตเตอรี่แห้ง และมีตาแมวคอยเตือนถึงระดับคุณภาพของแบตเตอรี่อยู่แล้ว แบตเตอรี่จึงเป็นรายจ่ายในรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างไม่น่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหากผู้ใช้รถยนต์เอาใจใส่ เรียนรู้ถึงวิธีการใช้งานแบตเตอรี่ เรียนรู้ถึงวิธีการดูแลรักษาแบตเตอรี่ ก็จะช่วยให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เป็นการช่วยประหยัดเงินจากการใช้รถยนต์ไปได้ในตัว
ประการแรกหากในรถยนต์ของท่านมีระบบดับและสตาร์ทเครื่องยนต์อัตโนมัติ หรือ ไอเดิ้ล สตาร์ท / สต้อป หรือระบบ ไอ สต้อป ตามแต่จะเรียกกัน และท่านต้องการยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ท่านก็ควรปิดการใช้งานระบบดังกล่าวลงไป เพราะทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่องยนต์ แบตเตอรี่จะถูกใช้งานหนักที่สุด ไฟฟ้าในแบตเตอรี่จะถูกกระชากดึงออกมาใช้งานมากที่สุด ประการถัดมาที่ต้องทำคือ ทุกครั้งก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ ให้ท่านปิดอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เช่น วิทยุ, เครื่องปรับอากาศ, ไฟหน้า ฯลฯ แม้ว่าฝ่ายเทคนิคของบริษัทรถยนต์หลายแห่งจะแนะนำว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปิดแล้วก็ตาม แต่เมื่อการสตาร์ทรถยนต์แต่ละครั้งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก หากยังมีอุปกรณ์อื่นใช้ไฟ้าร่วมอยู่ด้วยในขณะสตาร์ท ก็เท่ากับว่าไฟฟ้าในแบตเตอรี่จะถูกดึงออกมามากเกินไป และทำให้ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น ในการชาร์จอัดประจุไฟฟ้ากลับเข้าไปใหม่ ดังนั้นจึงควรปิดอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดขณะสตาร์ทเครื่องยนต์ทุกครั้ง
ควรตรวจดูระดับน้ำกรดในแบตเตอรี่ทุกๆหกเดือน แม้ว่าจะเป็นแบตเตอรี่แบบเมนเทนแนนซ์ฟรีก็ตาม หากพบว่าน้ำกรดในแบตเตอรี่ลดระดับต่ำลง และแบตเตอรี่ที่ท่านใช้อยู่มีจุกที่สามารถเปิดเพื่อเติมน้ำกลั่นได้ ก็ให้เปิดขึ้นมาแล้วใช้น้ำกลั่นเติมลงไปจนถึงขีดบอกระดับสูงสุด หากไม่สามารถหาน้ำกลั่นสำหรับเติมลงไปในแบตเตอรี่ได้ การใช้น้ำดื่มหรือน้ำสะอาดเติมลงไป ก็ยังดีกว่าปล่อยให้น้ำกรดในแบตเตอรี่แห้งครับ